คำถาม :
อุบัติการณ์เกิด MP rash จากยา Primaquine
ชื่อสามัญทางยา :
Primaquine
ประเภทคำถาม :
ADR/Side effects
คำตอบ :
อาการไม่พึงประสงค์จาการใช้ยา (adverse drug reaction; ADR)
คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ และเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เกิดขึ้นเมื่อใช้ยาในขนาดปกติเพื่อการป้องกัน วินิจฉัย บรรเทา หรือบำบัดรักษาโรค โดยไม่รวมถึงการใช้ยาในขนาดสูงกว่าปกติจากอุบัติเหตุหรือโดยจงใจ หรือจากการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
1. Adverse drug reaction type A พบได้บ่อยถึง 80% ของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทั้งหมด เกิดจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา จึงมักสัมพันธ์กับปริมาณยาที่ให้และมักคาดเดาการเกิดอาการได้
1.1 Overdose คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับยาที่มีขนาดสูงจนเกิดพิษ เช่น ภาวะตับวาย จากการได้ยา acetaminophen เกินขนาด
1.2 Side effect คือ ปฏิกิริยาที่เกิดจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยานอกเหนือจากคุณสมบัติหลักหรือข้อบ่งใช้ของยานั้นๆ โดยเกิดในขนาดยาที่ใช้รักษาและสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอาการ รวมทั้งระดับความรุนแรงขึ้นกับขนาดของยา เช่น คลื่นไส้อาเจียนจากยา methylxanthines
1.3 Drug interaction คือ ปฏิกิริยาต่อกันของยา เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา 2 ชนิดขึ้นไปพร้อมกัน ซึ่งอาจจะเสริมฤทธิ์หรือต้านฤทธิ์กัน ส่งผลต่อผลการรักษาหรือผลข้างเคียงต่างๆ เช่น การให้ยา erythromycin คู่กับยา theophylline จะทำให้ระดับยา theophylline เพิ่มขึ้น
2. Adverse drug reaction type B พบประมาณ 20% เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ไม่ได้เกิดจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา จึงไม่สัมพันธ์กับปริมาณยาที่ให้และไม่สามารถคาดเดาการเกิดอาการได้ ตัวอย่างเช่น
2.1 Intolerance คือ ผลข้างเคียงของยาที่เกิดในขนาดยาที่ต่ำกว่าขนาดที่ใช้ในการรักษา เช่น การเกิด tinnitus หลังกิน aspirin 1 เม็ด
2.2 Idiosyncrasy คือ การตอบสนองของร่างกายที่ผิดปกติจากยาโดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ ไม่ขึ้นกับขนาดยา มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่มีความไวต่อยามากเกินหรือเกี่ยวข้องกับ enzymatic defect เช่น การเกิด anemia ในผู้ป่วยโรค G6PD ที่ได้รับ antioxidant drug
2.3 Drug hypersensitivity เป็นปฏิกิริยาที่ไม่ได้เกิดจากฤทธิ์จากเภสัชวิทยาของยา โดยอาจเกิดจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ไวเกิน เรียกว่า การแพ้ยา (drug allergy) เช่น การเกิดภาวะแพ้รุนแรง (anaphylaxis) จากการได้รับยาฆ่าเชื้อกลุ่ม beta-lactam หรือไม่ได้เกิดจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ไวเกิน เรียกว่า non-allergic drug hypersensitivity หรือ pseudoallergy เช่น การเกิดลมพิษหลังได้รับยากลุ่ม opiate
การแพ้ยาสามารถจำแนกประเภทตามกลไกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตาม Gell-coombs classification ดังนี้
Type 1 (Immediate type) การแพ้ยาชนิดนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยเคยได้รับยาดังกล่าวมาก่อนทำให้มีการสร้าง IgE ที่จำเพาะต่อยานั้น ๆ ไปจับแน่นอยู่บนผิวของ mast cell และเมื่อผู้ป่วยได้รับยาชนิดเดิมซ้ำตัวยาจะไปจับกับ IgE ที่จำเพาะต่อยาบนผิวของ mast cell ส่งผลให้ mast cell แตกตัว (degranulation) และมีการหลั่ง mediators ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น urticaria, angioedema, anaphylaxis ซึ่งอาการจะมักเกิดภายใน 1 ชั่วโมงหลังได้รับยา
Type 2 (Cytotoxic type) การแพ้ยาชนิดนี้เกิดจากยาจับกับโปรตีนบนผิวเซลล์เกิดเป็น antigen ใหม่ ทำให้มีการสร้าง IgG หรือ IgM ที่มีความจำเพาะมาจับ หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นผ่านระบบ complement ทำให้เกิดการทำลายเซลล์นั้นๆ เช่น การเกิด immune hemolytic anemia หลังได้รับยา penicillin หรือการเกิด immune thrombocytopenia หลังได้รับยา quinidine การแพ้ยาชนิดนี้มักเกิดอาการหลังได้รับยามากกว่า 72 ชั่วโมง
Type 3 (Immune complex type) การแพ้ยาชนิดนี้เกิดจากยาจับกับ IgG หรือ IgM ในร่างกายเกิดเป็น immune complex ไปเกาะที่ endothelial cell ของหลอดเลือด ทำให้เกิดกระบวนการ complement activation ทำลาย capillary endothelium เช่น การเกิด serum sickness หลังได้รับ anti-thymocyte globulin การแพ้ยาชนิดนี้มักเกิดอาการหลังได้รับยาประมาณ 10-21 วัน
Type 4 (Delayed type) การแพ้ยาชนิดนี้เกิดจากการกระตุ้นให้มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบอาศัย T lymphocyte ทำให้มีการหลั่ง cytokines เพื่อเรียก effector cell ชนิดต่างๆ ทำให้เกิด Maculopapular exanthema, delayed urticaria, fixed drug eruption, SJS/TEN, DRESS, AGEP การแพ้ยาชนิดนี้มักเกิดอาการหลังได้รับยาประมาณ 2-4 วันหรือมากกว่านั้น (1)
รายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาประจำปี 2562 มีรายงานการเกิด MP rash จากยา Primaquine 84 ครั้ง เทียบกับอาการไม่พึงประสงค์ทั้งหมดที่เกิดได้จากยา Primaquine จำนวน 4634 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 1.81 (2)


สรุป: มีรายงานการเกิด MP rash จากยา Primaquine จากรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาประจำปี 2562 ร้อยละ 1.81 (84 ครั้ง) เทียบกับอาการไม่พึงประสงค์ทั้งหมดที่เกิดได้จากยา Primaquine (4634 ครั้ง)
เอกสารอ้างอิง :
1. พญ.วัลยา กู้สกุลชัย. Drug hypersensitivity reactions. เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2563. เข้าถึงได้จาก: https://meded.psu.ac.th/binlaApp/class05/388_551/Drug_hypersensitivity_reactions/index2.html
2. ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ Health product vigilance center (HPVC). สรุปรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาประจำปี 2562. นนทบุรี: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2563. 4107-11.