คำถาม :
Cyproheptadine (Periactin) ช่วยรักษาอาการหลั่งช้าได้จริงหรือไม่
ชื่อสามัญทางยา :
Cyproheptadine
กลุ่มยา :
Drugs used in the prophylaxis of migraine
ประเภทคำถาม :
Therapeutic use/ Efficacy
คำตอบ :
ความผิดปกติทางเพศ (sexual dysfunction) พบได้ในประชากรทั่วไปและพบมากขึ้นหากเป็นผู้ป่วยโรคทางกายหรือโรคทางจิตเวช ปัญหาความผิดปกติทางเพศแบ่งได้เป็น
- มีความต้องการทางเพศลดลง (decrease libido)
- มีการตื่นตัวทางเพศน้อยลง (diminished arousal)
- ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ (intercourse) ลดลง
- ไม่สามารถเกิดความเสียวสุดยอดทางเพศ (orgasm)
สำหรับความผิดปกติทางเพศที่พบได้ทั้งสองเพศคือ ความผิดปกติทางเพศจากยาหรือสารเสพติด
การทำหน้าที่ทางเพศประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประการและถูกควบคุมโดยสารสื่อประสาท เช่น dopamine, serotonin, acetylcholine, nitric oxide และฮอร์โมน เช่น testosterone รวมทั้งมีการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ เช่น hypothalamus, limbic system, cortex โดยปกติระยะของการทำหน้าที่ทางเพศจะแบ่งเป็น ระยะเกิดความต้องการทางเพศ ระยะการตื่นตัวและระยะการเกิดความเสียวสุดยอดทางเพศ สารสื่อประสาท serotonin จะมีบทบาทสำคัญในการยับยั้งความต้องการทางเพศ ความเสียวสุดยอดทางเพศและการหลั่งของน้ำกามโดยกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการทำงานของสมองส่วน hippocampus และ amygdala อย่างไรก็ตามผลของสารสื่อประสาท serotonin ต่อระบบประสาทส่วนกลางยังขึ้นกับชนิดย่อยของตัวรับที่จำเพาะ เช่น 5-HT2 และ 5-HT3 จะยับยั้งกิจกรรมทางเพศในขณะที่ 5-HT1 จะทำงานตรงกันข้าม คือกระตุ้นการเกิดกิจกรรมทางเพศ สำหรับสารสื่อประสาท dopamine มีบทบาทในวิถีของ mesolimbic และระบบ reward system โดย dopamine จะกระตุ้นการทำงานของ nucleus accumbens และส่วน medial preoptic hypothalamus ซึ่งมีบทบาทสำคัญในแรงจูงใจทางเพศ การกระตุ้นระบบสารสื่อประสาท dopamine ที่ hypothalamic paraventricular nucleus มีบทบาทสำคัญในการแข็งตัวของอวัยวะเพศผลของสารสื่อประสาทต่อการทำหน้าที่ทางเพศ
กลไกการเกิดความผิดปกติทางเพศจากยา antidepressant เชื่อว่าเกิดจากสารสื่อประสาท serotonin เป็นหลัก ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) และ Serotonin norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) ทำให้เกิดการทำหน้าที่ทางเพศที่ผิดปกติผ่านกลไกการเพิ่มสารสื่อประสาท serotonin ที่จุดประสาทประสาท ทำให้เกิดการกระตุ้นตัวรับ 5-HT2A ทำให้เกิดความผิดทางหัวใจและลิ้นหัวใจและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และ 5-HT2C ทำให้ลดความอยากอาหาร ในขณะเดียวกันยาที่มีผลปิดกั้นตัวรับเหล่านี้จึงมีผลทำให้เกิดความผิดปกติทางเพศได้น้อยกว่า เช่น mirtazapine, nefazodone และ agomelatine สำหรับยากลุ่ม norepinephrine reuptake inhibitor เช่น reboxetine หรือยากลุ่ม norepinephrine และ dopamine reuptake inhibitor เช่น bupropion มีผลต่อความผิดปกติทางเพศน้อยมากหรือไม่มีเลย (1)
Cyproheptadine เป็นสาร antihistamine ที่มีคุณสมบัติ antiserotonergic ร่วมด้วย ซึ่งได้รับการรายงานมานานกว่าทศวรรษว่าสามารถลดความผิดปกติทางเพศที่เกิดจากยา antidepressant ได้ โดยมี case reports และ case series รายงานถึงประสิทธิภาพ ขนาดยาที่มีประสิทธิภาพคือ 2 – 16 mg ใน case series ล่าสุดมีกรณีศึกษาสูงสุด พบว่าผู้ป่วย 12 ใน 25 รายมีอาการความผิดปกติทางเพศดีขึ้นเมื่อได้รับยา Cyproheptadine (ขนาดยาเฉลี่ย 8.6 mg) การไม่สำเร็จความใคร่เป็นผลข้างเคียงที่พบว่าบรรเทาได้ด้วย Cyproheptadine โดยให้รับประทาน 1 – 2 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือรับประทานเป็นประจำ อย่างไรก็ตามคุณประโยชน์ของ Cyproheptadine ถูกจำกัดด้วยผลข้างเคียง เช่นการกดประสาทมากเกินไปและการต้านฤทธิ์การรักษาของ antidepressant ที่เป็นปัญหาสำคัญ มีรายงานว่าอาการ depression และ bulimic กลับมาเกิดซ้ำหลังได้รับยา Cyproheptadine แต่เมื่อหยุดใช้ยา Cyproheptadine ผลการรักษาก็กลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม (2)

สรุป: Cyproheptadine มีรายงานว่าสามารถลดความผิดปกติทางเพศเรื่องการไม่สำเร็จความใคร่ที่เกิดจากยา antidepressant ได้ หากไม่ได้เกิดจากอาการข้างเคียงของยาไม่มีการศึกษารายงานถึงประสิทธิภาพในการรักษา จึงไม่แนะนำให้ใช้
เอกสารอ้างอิง :
1. ทวนทน บุญลือ. การจัดการปัญหาความผิดปกติทางเพศจากยาจิตเวช [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=322
2. Giltin MJ. Treatment of Antidepressant-Induced Sexual Dysfunction [Internet]. 1998 [cited 2021 Jan 14]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/430614_5