คำถาม :
ยา tamsulosin และ alfuzosin มีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกันหรือไม่ อย่างไร และสามารถใช้ร่วมกันในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตได้หรือไม่ อย่างไร
ชื่อสามัญทางยา :
tamsulosin และ alfuzosin
กลุ่มยา :
alpha-1 blockers
ประเภทคำถาม :
Therapeutic use/ Efficacy
คำตอบ :
โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hyperplasia; BPH) เป็นโรคที่มีการขยายขนาดของต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ที่บริเวณท่อปัสสาวะส่วนต้น การที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ไปกดหรือบีบท่อปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยมีการปัสสาวะที่ผิดปกติ คือ ปัสสาวะลำบาก ไหลช้า ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเล็ด ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ปัสสาวะบ่อย และตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยครั้งในกลางคืน โรคนี้สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นและเกิดขึ้นในเพศชาย(1) สำหรับการรักษาโรคจะใช้ยากลุ่มต่าง ๆ ดังนี้(2)
ยากลุ่ม alpha-blockers ใช้ในการรักษา BPH ออกฤทธิ์โดยไปทำให้กล้ามเนื้อเรียบบริเวณต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะคลายตัว แบ่งออกแบ่ง 3 generation ดังนี้
1. First generation alpha-blockers ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ไม่จำเพาะเจาะจงต่อ receptor จึงสามารถไปออกฤทธิ์จับกับ alpha-2 recertor ได้ จึงออกฤทธิ์ต้าน alpha-2 receptor ได้ ส่งผลให้เกิด tachycardia และ arrhythmia ได้ ยาในกลุ่มนี้คือ phenoxybenzamine
2. Second generation alpha-blockers ยาในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยตัวยา prazosin, terazosin, doxazosin และ alfuzosin ยาในกลุ่มนี้เป็น nonselective alpha-1 antagonist ซึ่งนอกจากจะไปออกฤทธิ์ที่ต่อมลูกหมากแล้วยังสามารถไปออกฤทธิ์ที่หลอดเลือดได้ จึงทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบท เป็นลม เวียนศีรษะขึ้นได้หลังใช้ยา หากเกิดขึ้นในผู้สูงอายุก็อาจทำให้เกิดการล้มและกระดูกหักขึ้นได้ การเริ่มใช้ยากลุ่มนี้จะใช้ในขนาดต่ำ ๆ ในระยะแรกและค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาจนถึงขนาดยาที่เหมาะสม สำหรับยา alfuzosin นั้นจะมีความเป็น uroselective (ออกฤทธิ์จำเพาะที่ alpha-1 receptor ที่ต่อมลูกหมาก) มากกว่ายาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน จึงสามารถทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่เกี่ยวข้องกับ cardiovascular ได้น้อยกว่า
3. Third generation alpha-blockers ยากลุ่มนี้จะจำเพาะต่อ alpha-1a receptor ซึ่ง receptor alpha-1a จะมีมากที่ต่อมลูกหมาก บริเวณกล้ามเนื้อคอของกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ยาในกลุ่มนี้คือ tamsulosin และ silodosin ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับ cardiovascular ได้น้อยมาก(1)
สำหรับการใช้ยารักษา BPH ตามแนวทางของ American Urological Association Guideline: Management of Benign Prostatic Hyperplasia (BPH) 2010 คำแนะนำที่เป็น combination therapy จะแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม alpha-blocker ร่วมกับ 5-alpha reductase inhibitor หรือใช้ยา alpha-blocker ร่วมกับ anticholinergic ซึ่งไม่พบการใช้ยากลุ่ม alpha-blocker(2) ร่วมกันสองชนิด จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีการศึกษา Combination of alfuzosin and tamsulosin in BPH patients with acute urinary retention ทำการเปรียบเทียบการให้ยา alfuzosin เดี่ยวกับการให้ alfuzosin ร่วมกับ tamsulosin ในการรักษา acute urinary retention ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ใช้ combination alfuzosin กับ tamsulosin มีการกลับมาปัสสาวะเป็นปกติ (restoration of urination) ได้มากกว่า alfuzosin เดี่ยวอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่ม combination มีการเกิด recurrent ได้มากกว่าแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(3)
รูปแสดงผลการศึกษา Combination of alfuzosin and tamsulosin in BPH patients with acute urinary retention
สรุป: ยา alfuzosin และ tamsulosin เป็นยากลุ่ม alpha-blocker เหมือนกัน แต่ยามีความจำเพาะต่อ receptor mแตกต่างกัน โดย tamsulosin เป็น alpha-1a selective blocker ส่วน alfuzosin เป็น alpha-1 blocker ดังนั้น tamsulosin จึงเป็นยาที่เหมาะสมต่อการรักษา BPH และมี ADRs ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดที่น้อยกว่า ส่วนการใช้ยาสองตัวร่วมกันนั้นไม่พบแนวทางใดที่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มเดียวกันเป็น combination therapy แต่พบการศึกษาขนาดเล็กที่มีการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกัน พบผลดีในการทำให้เกิด restoration of urination ได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการศึกษาที่ทำในประชากรขนาดเล็กจึงไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการใช้ยา tamsulosin และ alfuzosin ร่วมกันนั้นมีความประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างไร
เอกสารอ้างอิง :
1. DiPiro JT, Yee GC, Posey LM, Haines ST, Nolin TD, Ellingrod V. Pharmacotherapy: A pharmacological approach. 11th ed: Mc Graw Hill; 2020.
2. Staff, American Urological Association guideline: management of benign prostatic hyperplasia (BPH). 2010.
3. Pushkar D, Zaitsev A, Rasner P, Kosko JW. Combination of alfuzosin and tamsulosin in BPH patients with acute urinary retention. UROLOGY. 2007;70(supplement 3A). 254.